วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าเจ้าตูบกำลังป่วย
1. ลักษณะหน้าตา หัว หู และจมูก หน้าตาจะมีขี้มูก ขี้ตาเกรอะกรัง มองแววตาก็รู้ว่าไม่สดใส เศร้าหมอง หรือในบางกรณีก็มีแววตาที่แข็งกระด้าง หรือไม่มีแวว ขุ่นมัว หรือตาวาวมากกว่าปกติในกรณีของโรคพิษสุนัขบ้า - สำหรับความผิดปกติบริเวณหัว เช่น ในกรณีโรคหัด อาจจะมีอาการหนังหัวบริเวณข้างๆ หูกระตุก ซึ่งมาจากการกระตุกเป็นจังหวะของกล้ามเนื้อด้านข้างของกระโหลก การอักเสบของหู อาจจะสังเกตเห็นน้ำหนอง หรือน้ำหนวกไหลออกมาจากหู หรือเห็นหนองเกรอะกรังอยู่บริเวณรูหู ประกอบกับสุนัขอาจจะมีอาการคัน เกาหูร่วมด้วย ถ้าพบขี้หูสีดำก็มีโอกาสที่สุนัขจะติดเชื้อไรในหูสูงมาก - จมูก จะเห็นได้ชัดว่า แห้ง บางครั้งอาจจะมีสะเก็ดด้วย สุนัขปกติจะมีจมูกที่เปียกชื้น และอาจจะมีน้ำใสๆ ในรูจมูก
2. ลักษณะของลำตัว ตามลำตัวของสุนัขป่วย อาจจะพบขนร่วงทั่วไป หรือเป็นหย่อม ผิวหนังอาจจะมีการตกสะเก็ด เป็นผื่นแดง หรือมีหนอง มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือมีกลิ่นเฉพาะ หรือมองเห็นจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนัง เห็นได้ชัดจากด้านใต้ท้อง ก็เป็นอาการบ่งบอกของโรคตับได้ชัดเจน อาจมีก้อนบวมอยู่ใต้ผิวหนังที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นต้น - ท้องบวมหรือกางออก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาการที่เกิดจากมีน้ำในช่องท้อง หรือ “ท้องมาน” จะเป็นอาการของโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของตับหรือระบบเลือด และโดยมากจะบวมแต่ท้อง ส่วนอื่นอาจจะเห็นได้ชัดว่าแห้งลง แต่ถ้าบวมไปหมดก็เป็นไปได้ทั้งอ้วนจริง หรือท้องมานรวมกับบวมน้ำทั่วทั้งตัว
3. ส่วนขาและเท้า สุนัขเดินกระเผลก เดินไม่เต็มฝ่าเท้า เป็นการบอกถึงอาการบาดเจ็บของกระดูกขา หรือข้อเท้า ข้อขา หรือบางทีการมีบาดแผลที่ฝ่าเท้าหรืออุ้งนิ้ว อาจมองเห็นเลือดไหลออกมา หรือฝ่าเท้าบวม ง่ามนิ้วของสุนัขบางทีก็เต็มไปด้วยเห็บ ทำให้สุนัขเจ็บที่บริเวณเท้าได้ การที่พบฝ่าเท้าหนาตัวในลูกสุนัข ซึ่งควรจะมีฝ่าเท้าที่นุ่มก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคหัดได้
4. อวัยวะเพศ ในตัวผู้นั้น บางทีพบอาการบวมแดงของอวัยวะเพศ ส่วนใหญ่ถ้าไม่มีเลือดไหลออกมาเจ้าของจะไม่สังเกต หรืออาจสังเกตได้จากการที่สุนัขแสดงอาการเจ็บปวด เสียมากกว่าปกติ บางทีก็พบว่าอวัยวะเพศแข็งตัว ยื่นออกมาจากหนังหุ้มแล้วไม่หดกลับเข้าไป ทำให้แห้งและอาจเกิดเนื้อตายได้ ส่วนใหญ่ถ้าพบเลือดไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศ จะบ่งบอกถึงการที่สุนัขมีเนื้องอกติดต่อที่เรียกว่า Venereal Granuloma (VG) ซึ่งเป็นเนื้องอกที่เป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง ติดต่อโดยการผสมพันธุ์ ซึ่งอาจจะมองเห็นก้อนเนื้องอกอยู่ที่อวัยวะเพศได้ไม่ยาก แต่การรักษาไม่ยากนักในปัจจุบัน การรักษาด้วยยาได้ผลเกือบ 100% - บริเวณถุงอัณฑะที่พบบ่อยคือ การอักเสบหรือการแพ้ของผิวหนังบริเวณนี้ แมลงกัดหรือต่อย เป็นสาเหตุเกือบจะ 100% ที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ การใช้ยางรัดของรัดบริเวณโคนถุงอัณฑะ อาจจะโดยการแกล้ง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือตั้งใจที่จะตอน กรณีนี้อาจจะต้องจบลงที่การผ่าตัดเอาถุงอัณฑะทั้งถุงออก
ใน ตัวเมีย ที่พบบ่อยคือการที่เห็นเลือด หรือน้ำสีคล้ายเลือด หรือหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ถ้าเป็นน้ำเลือดใสๆ พร้อมกับเห็นอวัยวะเพศบวมแดง อาจจะเป็นอาการปกติของสุนัขที่กำลังเป็นสัด แต่ถ้ายังมีอาการดังกล่าวนานกว่า 2 อาทิตย์ และบางทีก็เห็นก้อนเนื้อโผล่ออกมา เกือบจะทั้งหมดจะเกิดจากเนื้องอก VG และบางทีโรคนี้อาจทำให้มองเห็นเหมือนอวัยวะเพศฉีกขาด และบวมใหญ่กว่าเดิมหลายๆ เท่าได้ การรักษาก็เช่นกันกับในตัวผู้
5. หางสุนัข สุนัขที่มีสุขภาพปกติและไม่มีอาการป่วยจะมีหางที่แกว่งไปมาไม่ใช่หางตกอยู่ ระหว่างขาตลอด และบางทีก็พบว่า หางสุนัขเป็นบริเวณที่เกิดโรคผิวหนัง หรือขี้เรื้อนได้บ่อย และบางทีก็เป็นบริเวณแรกที่เกิดโรค อาการและพฤติกรรมที่ผิดไปจากที่เคยเป็น
6. อุณหภูมิร่างกาย สุนัขปกติจะมีอุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 101-102 OF ซึ่งจะเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิปกติของมนุษย์มาก (97 OF) ทำให้เป็นการยากที่จะใช้การจับต้องบริเวณร่างกายของสุนัข และบอกได้ว่าสุนัขเป็นไข้ การวัดอุณหภูมิสุนัขต้องใช้การวัดโดยเทอร์โมมิเตอร์ที่บริเวณก้น ถ้าสุนัขมีไข้อุณหภูมิจะสูงกว่า 102.5 OF
7. ความอยากอาหาร การที่สุนัขไม่ยอมกินอาหาร หรือกินน้อยลง หรือบางทีรวมทั้งน้ำด้วย หรือหมดความกระตือรือร้นที่จะกินอาหาร จะเป็นสัญญาณบอกว่าสุนัขป่วย หรือเริ่มป่วย
8. การอาเจียน การสังเกตการอาเจียนเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดการอาเจียน ก็แน่นอนว่าสุนัขป่วย แต่ต้องสังเกตให้รู้ด้วยว่าอาเจียนทันทีหลังอาหาร หรือไม่ได้กินอาหารก็อาเจียน รวมทั้งลักษณะของอาเจียนที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร มีสีอะไร เพื่อที่จะได้ไปบอกสัตว์แพทย์เวลานำสุนัขไปรักษา เพื่อการวินิจฉัยที่ง่ายขึ้น และทันต่อเวลา
9. อุจจาระ อาการอุจาระร่วง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูก เป็นความผิดปกติแน่นอน แต่เจ้าของจะต้องสังเกตด้วยว่าอุจจาระที่ออกมามีลักษณะอย่างไร มีเลือดปนหรือไม่ เป็นมานานแค่ไหน หรือหลังจากกินอะไรเข้าไป ในทางตรงข้ามอาการท้องผูกเจ้าของก็ต้องสังเกตลักษณะอุจจาระเพื่อบอกสัตว์ แพทย์เหมือนกัน
10. ปัสสาวะ อาการของสุนัขที่กำลังปัสสาวะก็บ่งบอกความผิดปกติได้เช่นเดียวกับลักษณะ ปัสสาวะที่ออกมา การที่สุนัขปัสสาวะลำบากหรือด้วยความเจ็บปวด ความถี่ของการปัสสาวะ ลักษณะของปัสสาวะที่ออกมาซึ่งบางทีก็มีเลือดปน เป็นการบอกถึงสุนัขกำลังเป็นนิ่ว หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นกับสุนัขตัวผู้มากกว่าตัวเมีย
11. อารมณ์ การตอบสนอง การที่เราเรียกสุนัขแล้วไม่ตอบสนอง หรือจำชื่อตัวเองไม่ได้ การที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ดุหรือเห่าอย่างที่ไม่เคยเป็น ก็เป็นอาการบ่งบอกถึงอาการผิดปกติทางสมองได้ เช่น โรคหัด หรือพิษสุนัขบ้า
12. การเดิน การวิ่ง การวิ่งการเดินที่ผิดปกติ นอกจากจะบอกถึงความผิดปกติที่โครงสร้างของกระดูก หรือกล้ามเนื้อแล้ว บางทีก็เป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาท เช่น โรคหัด หรือพิษสุนัขบ้าได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น